เทคนิคทำสไลด์...นำเสนออะไรก็ผ่านใน 3 นาที
เทคนิคทำสไลด์...นำเสนออะไรก็ผ่านใน 3 นาที
การนำเสนอที่ดี ไม่ใช่แค่การนำข้อมูลมาพูดให้ผู้ฟังได้รับทราบ แต่เป็นการแจ้งข้อมูลอย่างมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เมื่อผู้ฟังได้รับข้อมูลแล้ว ผู้ฟังอาจมีการเปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (take action) หรือตัดสินใจมอบโอกาสที่ดีให้กับผู้นำเสนออีกด้วย
เราคงผ่านตาการนำเสนอที่สุดยอดไม่ว่าจะจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Apple โดย Steve Jobs หรือ การนำเสนอระดับโลกใน TED Talks กันมาบ้าง ซึ่งทำให้ผู้ชมหัวใจเต้นแรง อ้าปากค้าง น้ำตาไหล รวมถึงกระเป๋าเงินสั่นระรัวพร้อมจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้นำเสนอ ณ เดี๋ยวนั้นกันเลยทีเดียว ซึ่งการนำเสนอแบบนี้ มักใช้การสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมให้คล้อยตาม แต่เน้นการนำเสนอให้ติดตราตรึงใจ
แต่การนำเสนออีกประเภทหนึ่งที่พวกเรามักประสบอยู่บ่อยครั้ง คือ การนำเสนอต่อผู้บริหารขององค์กรของเราเอง เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจอนุมัติโครงการหรือมาตรการของเรา การนำเสนอแบบนี้ มักใช้เวลาไม่กี่นาที ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก จึงไม่ใช้อารมณ์ร่วมเป็นตัวชูโรง เนื่องจากอาจทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง และเสียเวลาผู้บริหารนั่นเอง
แต่จะทำอย่างไรจึงจะใช้เวลานำเสนอน้อย แต่ได้มาก นั่นคือจูงใจให้ผู้บริหาร Say Yes! กับข้อเสนอของเรา เรามาไขความลับกันในหนังสือเล่มนี้ “เทคนิคทำสไลด์ นำเสนออะไรก็ผ่านใน 3 นาที” โดย มะเอะดะ คะมะริ ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซอฟต์แบงค์ บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และผู้เขียนยังเป็นวิทยากรประจำของบริษัทนี้เพื่อสอนเทคนิคการนำเสนอให้พนักงานบริษัทแห่งนี้โดยเฉพาะ บทความนี้ขอสรุปสั้นๆ สำหรับเทคนิคที่น่าสนใจในการทำสไลด์สำหรับนำเสนอต่อผู้บริหารภายในเวลา 3-5 นาที ดังนี้นะคะ
- สไลด์ที่ดี คือ “เข้าใจง่ายและเป็นเหตุเป็นผล” ท่องประโยคนี้ให้ขึ้นใจค่ะ ไม่ว่าคุณจะใส่ข้อมูล รูปภาพ กราฟ หรือสิ่งใด ให้ถามตัวเองตลอดว่าสิ่งที่ใส่เข้าไป เข้าใจง่าย และ เป็นเหตุเป็นผลหรือยัง
- เลือกประเด็น (หรือมาตรการ) ที่จะนำเสนอเพียงประเด็นเดียว การมีหลายประเด็นจะทำให้เข้าใจยาก และผู้ชมมีคำถามนอกประเด็นที่เรานำเสนอจำนวนมาก และหลุดจากประเด็นได้ง่ายค่ะ
- สไลด์ควรประกอบด้วยสไลด์ต่างๆดังนี้คือ สไลด์ปก สไลด์กั้นหน้า สไลด์เนื้อหา และสไลด์ภาคผนวก
- สไลด์ปก
- ให้ใส่ชื่อปัญหาที่มาตรการหรือโครงการของเราต้องการแก้ ให้สั้นกระชับ ใช้อักษรตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น “มาตรการแก้ปัญหาลูกค้าลดลง”
- ใส่ชื่อการประชุม สถานที่นำเสนอ และวันที่นำเสนอ ให้ชัดเจน เพื่อให้เราไม่สับสนในกรณีที่หัวข้อเดียวกันมีสไลด์หลายเวอร์ชั่น
- ให้ใช้สไลด์ขนาด 4:3 เพราะเป็นการนำเสนอที่เน้นเหตุและผล ในขณะที่สไลด์ขนาด 16:9 เหมาะสำหรับการนำเสนอที่เน้นอารมณ์ โดยเลือกขนาดสไลด์ที่ Tab Design >> Slide Size
- สไลด์ปก
รูปที่ 1 ตัวอย่างสไลด์หน้าปก
- สไลด์กั้นหน้า เช่น สไลด์สารบัญ หรือสไลด์ที่มีแต่หัวข้อที่กำลังจะพูด ทำหน้าที่เป็น navigator ให้กับผู้ชม ว่าตอนนี้ถึงตอนไหนแล้ว
รูปที่ 2 ตัวอย่างสไลด์กั้นหน้าแบบสารบัญ
รูปที่ 3 ตัวอย่างสไลด์กั้นหน้าแบบแสดงหัวข้อ
- สไลด์เนื้อหา มีจำนวนเพียง 5-9 สไลด์ เนื่องจาก ณ เวลาสั้น ๆ คนเราจำได้เพียง 7 หัวข้อ(บวกลบ 2 หัวข้อ) เท่านั้น โดยในแต่ละสไลด์ต้องมี ข้อมูล —> ข้อสรุป ภายในสไลด์เดียวกัน
รูปที่ 4 ตัวอย่างสไลด์เนื้อหาที่มี ข้อมูล(กราฟ) —>ข้อสรุป(ข้อความ) ในสไลด์เดียว
สไลด์เนื้อหาประกอบด้วยสไลด์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
รูปที่ 5 ตัวอย่างการตกแต่งสไลด์ให้ภาพรวมดูสวยงาม
- ปัญหาที่โครงการเราต้องการแก้คือปัญหาอะไร (กราฟข้อมูลสำรวจ —> ข้อสรุปว่ามีปัญหาอะไร)
- สาเหตุของปัญหา (กราฟข้อมูล —> ข้อสรุปสาเหตุของปัญหา)
- มาตรการการแก้ปัญหา (กราฟข้อมูล —> ข้อสรุปไปสู่มาตรการที่เสนอ)
- เพิ่มสไลด์รายละเอียด เชิงกระบวนการ เช่น วันเวลา ผู้เกี่ยวข้อง สถานที่ งบประมาณ ในรูปแบบตาราง
- เพื่มสไลด์แผนการดำเนินงาน ได้แก่ขั้นตอน และเวลาที่เริ่มต้นและสิ้นสุดในแต่ละขั้นตอนอย่างย่อ
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ (กราฟข้อมูลผลการดำเนินงาน —> ข้อสรุปที่สอดคล้องกับปัญหา) โดยอาจแสดงข้อมูลดังนี้
- สถิติจากบริษัทอื่นที่เคยทำโครงการแบบนี้
- ผลเบื้องต้นที่ได้ทดลองดำเนินงาน
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ โดยการคาดเดาจากข้อมูลในอดีต
- สไลด์ภาคผนวก มีเพื่อตอบคำถามจากผู้ชม ในกรณีที่ผู้ชมต้องการให้แสดงข้อมูล หรือรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ
- ให้คาดเดาคำถามที่อาจถูกถามล่วงหน้า แล้วใส่ข้อมูลที่เป็นคำตอบเข้าไปในสไลด์ภาคผนวก เพื่อแสดงให้การเตรียมตัวมาอย่างดี
- นำสไลด์เนื้อหาไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดู แล้วให้ช่วยคาดเดาคำถาม
- การตกแต่ง
- อย่าใช้สีเยอะ
- ให้ใช้สีน้ำเงินสำหรับข้อความที่เป็น positive และให้ใช้สีแดงสำหรับข้อความที่เป็น negative
- ส่วนที่ไม่เน้นให้ใช้สีเทา
- ไม่ควรใช้แอนิเมชั่น ยกเว้นกรณีต้องการเน้นเหตุและผลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- ใช้รูปที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจง่าย เช่นรูปประเภทพของสินค้า แต่ไม่ใช้รูปที่เน้นผลด้านอารมณ์
รูปที่ 5 ตัวอย่างการตกแต่งสไลด์ให้ภาพรวมดูสวยงาม
- ใช้กราฟ เพื่อทำให้ผู้ชมเข้าใจข้อมูลตัวเลขได้ภายใน 10 วินาที
- 1 สไลด์ ต่อ 1 กราฟ ต่อ 1 ประเด็น
- ตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกให้หมด เช่น ข้อความ ตัวเลข เส้นแกน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจกราฟได้ง่ายที่สุด
- ใส่กราฟไว้ด้านซ้าย และใส่ข้อความเพื่อสรุปข้อมูลของกราฟไว้ด้านขวา เพราะตาซ้ายจะส่งกราฟไปให้สมองซีกขวาที่รับรู้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี และตาขวาจะส่งข้อสรุป(ข้อความ)ไปให้สมองซีกซ้ายที่รับรู้ความเป็นเหตุผลได้ดี
- ไม่ควรซ้อนทับกราฟ หรือใช้กราฟหลายแกน เพราะทำให้เข้าใจยาก
- ไม่ควรใช้กราฟ 3 มิติ เนื่องจากทำให้ตัดสินความสูง/ขนาดของกราฟได้ยาก
- ใช้สีเดียวสำหรับกราฟวงกลม โดยชิ้นที่ต้องการจะเน้นให้ใส่สี ดึงออกมาจากวงกลม และชิ้นอื่นเป็นสีเทา
- หาข้อมูลเพิ่มเติม ในกรณีที่มีข้อมูลผิดปกติในกราฟ เช่น ยอดขายสูงผิดปกติในเดือนที่ผ่านมา แล้วเตรียมข้อมูลไว้ในสไลด์ภาคผนวก
รูปที่ 6 ตัวอย่างการใช้กราฟ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจข้อมูลตัวเลขภายใน 10 วินาที
- การเตรียมตัวก่อนนำเสนอ
- ตรวจสอบสไลด์อย่างน้อย 3 รอบ แต่ละรอบห่างกันอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พบข้อผิดพลาดก่อนนำเสนอจริง
- นำสไลด์ไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดู อาจทำให้พบข้อผิดพลาดมากขึ้น และเป็นการสร้างมิตรที่เห็นด้วยกับโครงการของเรา
- ซ้อมอย่างน้อย 20 รอบ และปรับปรุงสไลด์ทุกรอบ
- พิจารณาผู้ชม นั่นคือผู้บริหารนั่นเอง ผู้บริหารอาจแบ่งคร่าว ๆ ได้ 4 แบบ เราควรเตรียมสไลด์ให้เหมาะกับผู้บริหารแต่ละแบบ
- มีเหตุผล: มักเป็นผู้บริหารจากฝ่ายแผนงาน บัญชี การตลาด เทคโนโลยี หรือ IT
- ผู้บริหารประเภทนี้มักให้ความสำคัญกับข้อมูล ข้อเท็จจริง
- ให้คุณเตรียมสไลด์ในภาคผนวกให้ครบถ้วน และเพียงพอต่อคำถามต่าง ๆ
- มีเหตุผล: มักเป็นผู้บริหารจากฝ่ายแผนงาน บัญชี การตลาด เทคโนโลยี หรือ IT
รูปที่ 7-8 ตัวอย่างสไลด์นำเสนอผู้บริหารที่มีเหตุผล
- ชอบจัดการ มักเป็นผู้บริหารจากฝ่าย IT หรือดูแลลูกค้า
- ผู้บริหารประเภทนี้มักให้ความสำคัญกับกระบวนการและการทำได้จริง
- ให้คุณทดลองดำเนินการโครงการ (pilot project) และนำผลการทดลองดำเนินการไปนำเสนอด้วย
- แสดงสไลด์กั้นหน้า ในลักษณะสารบัญเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทราบว่าตอนนี้นำเสนอถึงขั้นตอนไหน
รูปที่ 8-9 ตัวอย่างสไลด์นำเสนอผู้บริหารชอบจัดการ
- ความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นผู้บริหารจากฝ่ายโฆษณา ออกแบบ การขาย
- ผู้บริหารประเภทนี้ชอบนวัตกรรมแปลกใหม่
- คุณควรเน้นคำว่า “ครั้งแรก” เช่น “ครั้งแรกในวงการ”, “ครั้งแรกในบริษัท” เป็นต้น
- ใส่ข้อมูลให้น้อย ใส่รูปภาพที่แสดงถึง “คุณค่า” หรือ “ความคิด”
- ใส่สไลด์กั้นหน้าที่แสดงถึงภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด
รูปที่ 9 -10 ตัวอย่างสไลด์นำเสนอผู้บริหารฝ่ายโฆษณา ออกแบบ การขาย
- ใส่ใจผู้อื่น มักเป็นผู้บริหารจากฝ่ายขาย
- ผู้บริหารประเภทนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือแผนกอื่น ๆ
- ให้คุณพูดย้ำว่า “ได้รับความเห็นชอบจากแผนกอื่นแล้ว” หรือ “ได้รับการรับรองจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว”
รูปที่ 11-12 ตัวอย่างสไลด์ผู้บริหารฝ่ายขาย
จากทั้งหมดข้างต้น ท่านผู้อ่านน่าจะได้เคล็ดลับจากบริษัทระดับโลกกันแล้ว คราวหน้าทำสไลด์ไปนำเสนอแก่ผู้บริหาร อย่าลืมใช้เทคนิคเหล่านี้ไปจูงใจผู้บริหารกันนะคะ
บทความโดย
ผศ.ดร.เนื่องวงศ์ ทวยเจริญ
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
บทความโดย
ผศ.ดร.เนื่องวงศ์ ทวยเจริญ
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์